20/2/54

วิวัฒนาการของช่องเข้าออก ตอนที่ 2

คงมีหลายคนแปลกใจว่าทำไมผมถึงแนะนำให้ท่านเจาะช่องนกเข้าออกให้ใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 100 x 80 cm ตามที่เห็นในบทความที่แล้วในหัวข้อ " วิวัฒนาการของช่องเข้าออก ตอนที่ 1 "  ซึ่งเป็นการเจาะช่องใหญ่เพียงช่องเดียว  ด้วยปัญหาของช่องนกเข้าออกที่ใหญ่จนบางครั้งอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องแสงสว่างและลมที่เข้าไปมากจนทำให้สภาพแวดล้อมภายในบ้านนกเปลี่ยนแปลงไปจากที่ควรจะเป็น


ซึ่งการเจาะช่องใหญ่เพียงช่องเดียวนี้ มีข้อเสียบางประการตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความก่อน หากว่ามีนกเหยี่ยวหรือสัตว์ผู้ล่ามาดักจับกินนกแอ่นของเรา จะทำให้ท่านมีโอกาสเสียนกที่อยู่ในบ้านของท่านไป แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือ ประชากรนกในบ้านนกก็จะลดลงไปตามจำนวนที่เหยี่ยวจับนกแอ่นได้นั้นเอง  ยิ่งหากว่าเหยี่ยวจับนกแอ่นได้ง่ายเท่าไหร่ ท่านจะสังเกตุได้ว่านกเหยี่ยวหรือสัตว์ผู้ล่าตัวเดิมจะมาแวะเวียนที่บ้านนกของท่านบ่อยขึ้น และบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขาประจำที่ทำให้ประชากรนกแอ่นในบ้านนกของท่านลดลงอย่างน่าตกใจ หรืออัตราการเพิ่มกลับนิ่ง มีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือว่า ท่านมีช่องเข้าออกเพียงช่องเดียวเท่านั้น จำเป็นที่นกจะต้องบินผ่านเพื่อเข้าหรือออกโดยอาศัยช่องบินเข้าออกที่มีอยู่เพียงช่องเดียวนี้แหละ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดบอดเมื่อสัตว์ผู้ล่าเริ่มจับเส้นทางการบิน วิถีการบินเข้าออกได้แล้ว สัตว์ผู้ล่าก็มีความเฉียวฉลาดเพียงพอที่จะมาคอยดักจับนกที่บริเวณช่องนกนี่แหละครับ เนื่องจากมีช่องเข้าออกเพียงช่องเดียว ทำให้สัตว์ผู้ล่าไม่ต้องคอยเป็นกังวลใดๆ เพียงแต่มีสมาธิ รอจังหวะดีๆที่นกเผลอ ไม่ทันระวังตัวเข้าจับนกแอ่นเป็นอาหารได้ง่ายๆ เพราะว่าทุกครั้งที่นกแอ่นต้องการจะเข้าหรือออก ก็จำเป็นที่จะต้องบินเข้าออกผ่านช่องนกเข้าที่มีเพียงช่องเดียวเท่านั้น ไม่มีเส้นทางอื่นใดที่นกจะเข้าหรือออกได้เลย ดังนั้นหากว่าช่องเข้าออกขนาดใหญ่อย่าง 100 x 80 cm เพียง 1 ช่องใหญ่ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่องเล็กขนาด 50 x 80 cm พร้อมทั้งวางตำแหน่งให้อยู่ห่างกันหรืออยู่ควรละทิศคนละทาง หากว่าทำอย่างนี้แล้วนกแอ่นจะมีทางเลือกในการใช้เส้นทางบินเข้าออกได้มากกว่าเดิมและที่สำคัญก็คือจะทำให้สัตว์ผู้ล่าเสียสมาธิ ในการจับนกไปอย่างมาก เพราะสัตว์ผู้ล่าจะต้องคอยเป็นกังวลว่าจะเลือกช่องบินเข้าออกช่องไหนดี หากว่าช่องเดิมที่เฝ้าอยู่มีนกน้อย ก็จะย้ายไปอีกช่องที่เหลือ แต่ในณะเดียวกันนกแอ่นสามารถเหลบเลี่ยงไปใช้ช่องเข้าออกอีกช่องที่เหลืออยู่ได้  ซึ่งเป็นเกมส์ระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่าที่พยายามจะเอาชนะซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งพยายามจ้องจับ อีกฝ่ายหาช่องทางหลบหลีก เกมส์อย่างนี้สัตว์ผู้ล่าย่อมเสียสมาธิ ต้องคอยพวักพะวงว่านกแอ่นจะหลบไปใช้ช่องที่เหลือ  ในขณะเดียวกันผู้ถูกล่าอย่างนกแอ่นนั้นจะสามารถหลบหลีกหนีไปใช้อีกช่องทางหนึ่งซึ่งปลอดภัยกว่าที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าเฝ้าอยู่

ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ อัตราการรอดของนกแอ่นในบ้านนกที่มีช่องเข้าออก 2 ช่องย่อมสูงกว่าบ้านนกที่มีช่องเข้าออกเพียงช่องเดียวแน่นอน ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆที่ใครๆก็สามารถคาดการณ์ต่อได้ว่าเมื่ออัตราการรอดของนกแอ่นยิ่งมีสูงมากเท่าไหร่ สิ่งที่จะตามมาคืออะไร เป็นเรื่องที่กระผมคงไม่ต้องกล่าวถึง

ส่วนเรื่องของอัตราการไหลอากาศชองช่องเข้าออกแบบ 2 ช่องที่เจาะไว้ที่ผนังด้านเดียวกันเหมือนดังรูปด้านบนแล้ว การไหลเวียนอากาศก็จะไม่ค่อยแตกต่างกับแบบช่องเดียวเท่าไหร่นัก แต่หากว่าเมื่อไหร่ที่ท่านได้ศึกษาเก็บข้อมูลของทิศทางของแสงแดด ทิศทางลมประจำปีให้ดีและสามารถวางตำแหน่งช่องเข้าออกโดยการนำเอาสภาพอากาศตามธรรมชาติมาให้ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าเหมาะสมกว่าแบบช่องเดียวมากพอประมาณ

ทิศทางของแดด โดยปกติแล้วเรามีความเข้าใจทิศของแสงแดดจะมาจากทางตะวันออกไปทิศตะวันตก ซึ่งถูกต้องครับ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะว่าโดยที่จริงแล้วแสงของแดดจะเยื้องไปทางทิศใต้เล็กน้อย ไม่ได้เป็นเส้นตรงวิ่งจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 100% อย่างที่คิดไว้ และในแต่ละฤดูก็จะทำองศาแตกต่างกันไปบ้างไม่เท่ากันตลอดทั้งปี  ส่วนเรื่องของลมก็เช่น โดยปรกติแล้วลมจะมาจากทางใต้ประมาณ 8 เดือน และมาจากทางเหนือประมาณ 4 เดือนซึ่งเป็นลมหนาวเป็นทิศลมที่ทำให้ความชื้นในบ้านนกตกลงอย่างรวดเร็ว หากว่าเปิดช่องนกเข้าไปทางเหนือ แต่หากเราหันช่องนกเข้าไปทางทิศใต้แทน สิ่งที่เราจะได้ก็คือ อาศัยลมทางใต้นี้ในการช่วยทำให้เกิดการไหลเวียนอากาศภายในห้องนก พร้อมทั้งไล่ความร้อนที่จะสะสมในบ้านนกได้ตลอดทั้ง 8 เดือน และที่สำคัญก็คือว่า เมื่อลมเหนือซึ่งเป็นลมหนาว ขาดความชื้นจะไม่สามารถพัดเข้าในบ้านนกของเราได้ จึงช่วยให้ในฤดูหนาวบ้านนกที่เจาะช่องเข้าออกไว้ทางใต้จะได้รับผลกระทบจากลมหนาวน้อยกว่าบ้านนกที่เจาะช่องนกเข้าออกไว้ทางเหนือเป็นอย่างมาก

เมื่อเราเจาะช่องนกเข้าออกไว้ทางใต้ 1 ช่อง ส่วนที่เหลืออีก 1 ช่องนั้นเราสามารถเลือกทิศทางให้สอดคล้องกับเส้นทางการบินประจำวันของนกได้ เพื่อให้นกสามารถที่จะมองเห็นหรือได้ยินเสียงทุกครั้งที่บินผ่านหรือใช้เส้นทางเดิมๆบินกลับ้าน หรือบินออกไปหากิน ซึ่งยังคงประโยชน์เรื่องช่องสำหรับหลบเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าได้เหมือนเดิม พร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มเส้นทางการบินได้หลายหลากมากขึ้น นกแอ่นสามารถบินเข้าออกไปมากเส้นทางกว่า ในวิถีการบินหลายมิติมากกว่าเดิม ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องปรับมุม ปรับวิถีให้สอดคล้องกับนกตัวอื่นๆ บินเข้าออกได้อย่างสะดวก Free Style และนี้คงเป็นที่มาของชื่อช่องบินเข้าออกที่มี 2 ช่องว่า Freeway Entering Hole นั้นเองครับ



                                                                              

ผมขออนุญาตินำภาพเก่าที่เคยลองมาแล้วนำกลับมาประกอบเพื่อให้เห็นภาพโดยรวม (ซึ่งผมสะดวกในการหารูปเพื่อใช้ในการอ้างอิงด้วย 555 คงไม่ว่ากันนะครับ ) ผมคิดว่าเพื่อนๆคงจะได้แนวทางที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับตึกหรือบ้านนกของหลายท่าน ทั้งที่กำลังจะก่อสร้างหรือคนที่คิดกำลังจะปรับปรุงช่องนกเข้าออก หรือการปรับวางตำแหน่งหอนกใหม่ได้มากทีเดียวครับ

หากว่าต้องการดูรูปเพื่อเป็นการทบทวนสามารถย้อนกับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://vuthmail-swiftlet.blogspot.com/2009/12/model.html


                                                                                                 Vuthmail-Thailand
                                                                                                         20.02.54

17/2/54

วิวัฒนาการของช่องเข้าออก ตอนที่ 1

โดยทั่วๆไปแล้ว การเจาะช่องนกเข้าออกในยุคเริ่มแรกมีการเจาะกันหลายรูปแบบ มีทั้งแบบสี่เหลี่ยม แบบวงกลม แบบสามเหลี่ยม ขนาดของช่องนกเข้าออกก็มีหลากหลายขนาดเช่นกัน

แต่เท่าที่เห็นมามีความพยายามที่จะทำกันหลากหลายรูปแบบจริง ถึงแม้กระทั่งช่องนกบินเข้าออกมีการเลียนแบบให้คล้ายกับถ้ำเลยก็มี เพื่อวัตถุประสงค์ให้มีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด  ( ผมพยายามหารูป แต่กลัวเสียเวลลาในการหามากเกินไป เอาไว้วันหลังเจอจะนำรูปมาลงให้ดูในภายหลัง )

โดยส่วนมากเท่าที่ผมได้รับข้อมูลมา ขนาดที่นิยมกันมากก็คือ ขนาด 80 x 40 cm  โดยมีความกว้าง 80 cm และ สูงเพียง 40 cm จำนวน 1 ช่องตามสูตรของปรมาจารย์ชาวอินโดนิเซียได้กล่าวเอาไว้ ขนาดช่องมาตราฐานนี้จะสามารถรองรับนกเข้าออกได้มากกว่า 6,000 ตัว ส่วนขนาดอื่นๆนั้นเท่าที่ท่านปรมาจารย์บอกไว้ก็ยังมีอีกหลายขนาดครับ เช่น

ขนาด 20 x 30 cm  ช่องขนาดนี้รองรับนกได้  1,000 ตัว
ขนาด 20 x 60 cm  ช่องขนาดนี้รองรับนกได้  2,000 ตัว
ขนาด 40 x 30 cm  ช่องขนาดนี้รองรับนกได้  2,000 ตัว
ขนาด 40 x 60 cm  ช่องขนาดนี้รองรับนกได้  4,000 ตัว
และขนาดมาตราฐาน 40 x 80 cm รองรับนก   6,000 ตัว หรือมากกว่า

            จากข้อมูลตรงนี้เราสามารถนำมาขยายผล และทำเป็นสัดส่วน Ratio กันดีกว่านะครับ

ซึ่งจากขนาดความกว้างที่น้อยกว่า 60 cm นั้น อัตราส่วนของนกต่อพื้นที่หน้าตัดต่อ 1 ตารางเซนติเมตร จะมีอัตราตายตัวอยู่ที่ 1.67 ตัวต่อ 1 ตารางเซนติเมตร  แต่เมื่อเพิ่มขนาดความกว้างให้มากกว่า 60 cm ขึ้นไป เป็นขนาดกว้าง 80 cm  อัตราการรองรับนกที่บินเข้าออกจะก้าวกระโดดขึ้นไปเป็น 1.88 ตัวต่อ 1 ตารางเซนติเมตร  ซึ่งอัตรานี้คำนวณบนฐานนก 6,000 ตัวเท่านั้น คำนวนปริมาณมากกว่า 6,000 ตัวอัตราส่วนก็จะมากกว่า 1.88 ซึ่งน่าสนใจมากครับ

จากตารางนี้เราสามารถสรุปได้ว่า ช่องที่มีขนาดต่ำกว่า 80 cm จะรองรับนกได้เพียงอัตราส่วนเดียวเท่านั้นคือไม่เกิน 1.67 และไม่สามารถปรับยืดหยุ่นได้เลย ถึงแม้นว่าสัดส่วนขนาดความกว้างยาวจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ( แต่ไม่เกิน 80 cm )  ต่อเมื่อความกว้างหรือยาวตั้งแต่ 80 cm ขึ้นไปฐานตัวเลขจะมีปรับตัว เกิดความยืดหยุ่นมากกว่า รองรับนกได้มากกว่า ซึ่งอัตราการรองรับนกนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อความกว้างหรือยาวตั้งแต่ 120 cmขึ้นไป อัตราส่วนจะเปลี่ยนไปอย่างมากมาย จนสามารถเปลี่ยนฐานสมการใหม่เลย  ผมจึงได้นำเอาแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้มากกว่าที่จะเป็นการคาดเดาเอาเอง เป็นตัวเลขซึ่งเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดเพิ่มเติมได้อีก หากว่าคนที่สนใจตัวเลขเหล่าอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่มองเห็น แล้วข้ามผ่านไป

ซึ่งขนาดช่อง 80 x 40 นี้ผมมีข้อเสนอแนะว่าให้ใช้กับบ้านนกที่อยู่ในชุมนุมชนเท่านั้น ไม่เหมาะสมกับบ้านนกที่เป็นบ้านนก แบบ Stand Alone บ้านนกที่อยู่เขตต้นไม้หนาทึบ บ้านนกที่ประชากรนกเอี้ยง โดยเฉพาะบริเวณที่บ้านนกตั้งอยู่นั้นมีนกขี้ดื้ออย่างนกพิราบ หรือบ้านนกที่มีเหยี่ยวเล็กมากบินวนอยู่ประจำหากว่าบ้านนกของท่านอยู่ใน 3-4 กรณีหลังนี้ ผมแนะนำให้เจาะช่องนกบินเข้าออกให้ใหญ่กว่าเดิม กว้างกว่าเดิม คือกว้างมากกว่า 80 cm และใหญ่กว่า 40 cm เพราะว่านกพิราบหรือนกผู้ล่าเหล่านี้จะมายืนเกาะที่บริเวณช่องเข้าทำให้เสียพื้นที่ไปเกือบ 20 cm ตามความสูงของนกแต่ละชนิดที่มายืนเกาะ ทำให้ประสิทธิภาพขนาดช่องที่จะรองรับนกได้นกลงไปมากที่เดียว 

หากว่าบ้านท่านอยู่ใน 3-4 กรณที่ว่า นกแอ่นจะถูกรบกวนการบินเข้าออกทุกครั้งที่ต้องบินเข้าหรือบินออก ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความน่าลำบากใจให้กับนกแอ่นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนกที่อยู่ในบ้านอยู่ หรือนกใหม่ที่จะบินเข้ามาสำรวจซึ่งจะต้องคอยระมัดระวังนกขี้ดื้อที่มายืนอวดโฉมที่ปากช่องนกบินเข้าออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าปริมาณนกขี้ดื้อเหล่านี้ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็จำต้องพึงสังวรระวังไว้ในใจว่า การที่จะได้นกใหม่ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยมากเป็นเงาตามตัว ดีไม่ดี-นกใหม่อาจจะไม่สนใจที่จะบินเข้ามาสำรวจเลยซึ่งเป็นเรื่องที่เสียโอกาสไปเป็นอย่างมาก ดังนั้นผมเสนอว่าบ้านนกที่ไม่ได้อยู่ในเขตชุมชนให้ท่านเจาะช่องนกเข้าออกให้ใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 100 x 80 cm หรือมากกว่านี้เล็กน้อยจะยิ่งดี โดยต้องคำนึงถึงว่าช่องนกเข้าออกจะต้องไม่กระทบกับเรื่องแสงและลมที่จะเข้าไปในบ้านนกจนสร้างปัญหาขึ้นมา เพราะว่า ขนาดช่องนกเข้าออกที่เจาะให้กว้างขึ้น-ใหญ่ขึ้น จะสามารถชดเชยกับสิ่งที่ต้องเสียไปเพราะนกพิราบ เหยี่ยว นกเอี้ยง นี้เองครับ ลองทำความเข้าใจตัวเลขตามตารางด้านบนอีกครั้งครับ

                                                                                   ก่อนวันมาฆะปี 2554 - 1 วัน
                                                                                        Vuthmail - 17.02.54