20/5/53

การลดความร้อนใน Nesting Room ด้วยการเพิ่มการระบายอากาศ

การลดความร้อนใน Nesting Room ด้วยการเพิ่มการระบายอากาศ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทก่อนนะครับว่า อุณหภูมิภายในห้องนกจะเริ่มเพิ่มขึ้น เริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 7.30 น.ไปถึงช่วงก่อนเที่ยง และอุณหภูมิภายใน Nesting Room จะได้ขึ้นสูงสุดราวๆตอนบ่าย 14.00-14.30 น. ซึ่งจะทำให้สภาพภายใน Nesting Room อบอ้าวมากเพราะอิทธิพลจากผนังที่รับแดดในตอนเช้าจะเริ่มคลายความร้อนเข้าไปในห้องนก ถ้าหากว่าเราไม่เพิ่มอากาศเย็นเข้าไปในห้องนก และเร่งระบายอากาศร้อนเก่าออกไปจากห้องนก ความร้อนก็จะเริ่มสะสมไปจนช่วงเวลาบ่าย 16.00-17.00 น. จะทำให้สภาพอากาศภายในไม่ดี มีปัญหา

หลักในการเพิ่มการระบายอากาศนั้นทำได้หลายวิธี เช่นการเจาะหรือว่าใส่ท่อ PVC เพิ่มเข้าไป หรือการติดพัดลมดูอากาศเป่าเข้าไปในห้อง Nesting Room การเจาะใส่ท่อ PVC ดูจะทำได้ยากที่สุด ยุ่งยากมาก มีฝุ่นมีเสียง รบกวนนกมากเพราะว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องนกเป็นเวลานาน ทำงานก็ยากเพราะว่ามืด ต้องเปิดไฟภายในห้อง ผมคิดว่าหลายคนคงคิดเหมือนกันว่าคงไม่อยากจะใช้วิธีการนี้แน่ๆๆ

วิธีต่อมาทำได้โดยการติดพัดลมดูดอากาศ สามารถทำได้ทั้งเป่าเข้า และดูดออก บางท่านใช้ทั้ง 2 วิธีเพื่อเร่งการระบายอากาศ ซึ่งก็มีหลักอยู่เช่นกันครับ คือการติดพัดลมดูดอากาศโดยใช้ระบบ ดูดออกนั้นควรที่จะติดพัดลมดูดอากาศในที่ค่อนข้างสูง ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะว่า คุณสมบัติของอากาศร้อนนั้นจะลอยขึ้นสูงนั่นเอง   จึงเป็นการถูกต้องโดยหลักวิทยาศาสตร์ที่เราจะต้องติดพัดลมดูดออกในตำแหน่งที่สูงเพราะว่าจะได้ดูดเอาอากาศร้อนที่ลอยขึ้นสูงออกไปก่อน ดูดออกให้มาก เพื่อเป็นการเร่งไล่อากาศร้อนให้ออกไป ไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ หรือความร้อนอั้นอยู่ในห้องนกแล้วหาทางออกไม่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้การลดความอบอ้าวในห้องนกได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการเป่าอากาศเย็นเข้าไปในห้องนกนั้น เป็นการเพิ่มปริมาณอากาศใหม่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าภายใน Nesting Room เข้าไปในห้องเพื่อช่วยไล่ความร้อน ลดความร้อนสะสม หรือเป็นการเจือจางความร้อนให้ร้อนน้อยลง หากว่าทำเช่นนี้แล้วการลดอุณหภูมิจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  การติดพัดลมเพื่อเป่าอากาศเย็นเข้าไปใน Nesting Room นั้นให้ติดในที่ค่อนข้างต่ำ เพราะว่าอากาศเย็นจะมีน้ำหนักมากกว่าอากาศร้อน   ซึ่งเรื่องอย่างนี้เพื่อนๆหลายคนคิดได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อน แต่ว่าหลายคนอาจจะลืมนึกถึงเรื่องประสิทธิภาพของระบบนี้ ว่ามีปัจจัยอื่นแฝงอยู่

ประสิทธิภาพของการไล่อากาศร้อน เติมอากาศเย็นนั้น ประสิทธิภาพของระบบจะขึ้นอยู่กับจำนวนรอบของการเปลี่ยนถ่ายอากาศเก่าทั้งหมดใน Nesting Room ออกไป หรือที่เรียกกันโดยภาษาอังกฤษที่ใช้ในวงการพลศาสตร์ จะเรียกกันว่า Air Change

Air Change จะมีความสำคัญมากครับ ยิ่ง Air Change มีมากก็เหมือนกับว่าเรามีจำนวนรอบที่จะหอบเอาอากาศร้อนออกไปจาก Nesting Room ได้บ่อยครั้งมากกว่า Air Change ที่น้อยๆ ซึ่ง Air Change นี้จะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความเร็วหรือประสิทธิภาพในการลดความร้อนที่เร็วขึ้นเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกัน Air Change ก็จะเป็นตัวหอบเอาความชื้นออกจากห้อง Nesting Room ไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องการสูญเสียความชื้นไปกับ Air Change ด้วยเช่นกัน

แล้ว Air Change เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ผมเคยสอบถามเรื่องนี้กับ Kenny ที่เป็น Consultant อยู่ที่มาเลย์เซีย เค้าบอกกับผมไว้ว่า Air Change ควรจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 รอบต่อ 1 ชั่วโมง นั้นหมายถึงว่า 1 ชั่วโมงเราจะสามารถหอบเอาความร้อนออกไปได้ 3-5 ครั้งหรือ 3-5 รอบ ซึ่ง Kenny บอกว่าหากมากกว่านี้จะทำให้ควบคุมความชื้นได้ยาก ดังนั้นเราก็มา Focus กันที่ 3 ครั้งซึ่งกำลังพอดี นั่นหมายความว่าภายใน 20 นาทีเราจะต้องถ่ายอากาศเก่าภายในตึกออกให้หมด เพื่อให้อากาศใหม่เข้ามาแทนที่ เพื่อที่อากาศใหม่ที่เย็นจะดูดซับความร้อนไว้ และเราก็ดูดอากาศที่เพิ่งเข้ามาออกทิ้งไปใน 20 นาทีต่อมา ทำอย่างนี้ได้ 3 รอบๆละ 20 นาทีก็จะครบ 1 ชั่วโมง หรือเรียกกันว่าเรามี Air Chnage เท่ากับ 3 ครั้งต่อชั่วโมง

หากว่าบ้านร้อนมากก็สามารถรปรับ ขยับ Air Change ขึ้นไปเป็นที่ 4 หรือ 5 ครั้งต่อชั่วโมงก็ได้ครับ

หากว่าท่านสนใจที่จะติดตามอ่านคำตอบของ Kenny สามารถเข้าไปอ่านได้ที่   http://finance.groups.yahoo.com/group/swiftlets/message/145

ผมต้องขอขอบพระคุณ Mr.Kenny Sim Che King ที่อุตส่าห์ตอบคำถามของผมด้วยความเต็มใจ และเป็นคำตอบมีประโยชน์มาก โดยส่วนตัวผมชอบ Kenny มากครับ เก่ง เปิดเผย ใจกว้างมากครับ สำหรับ Mr.Kenny คนนี้

ที่ผมกำหนด Air Change ไว้ที่ 3 รอบเพื่อให้จำได้ง่ายๆ ตามวัตถุประสงค์แต่ละรอบของ Air Change ตาม Style ของผม จะให้มองง่ายขึ้น มองเป็นรอบๆ ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ ก็แล้วกันครับ

1.-รอบแรกดูดเอาความร้อนเก่า ความร้อนเดิมที่อยู่ใน Nesting Room ออกทิ้งไปให้หมด 
2.-รอบที่สองก็เป็นการดูดเอาความร้อนที่ผนังออกไปอีก ซึ่งก็ทำให้ผนังด้านในมีความร้อนสะสมน้อยลงมาก
3.-รอบที่สามเป็นการดูดเอาอากาศใหม่ที่ไม่ร้อน หรืออากาศเย็นเข้ามาเก็บไว้ เพื่อทำให้อุณหภูมิใน Nesting Room เย็นลง

อย่างที่บอกครับให้คิดง่ายๆ คิดเป็นขั้นๆทั้ง 3 ขั้นตอนอย่างนี้ก็จะพอเข้าใจได้ จำได้แม่น
แต่ในข้อเท็จจริงแล้วขบวนการที่ดูดอากาศร้อนเก่าออกไป การนำความร้อนที่ผนังด้านในออกไป และการเติมอากาศเย็นใน Nesting Room ทั้ง 3 ขบวนการนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ไม่เกิดเป็นขั้นๆ แต่ที่ให้บอกไปเป็น 1 2 3 ก็เพื่อจะได้จำได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเองครับ

ส่วนตัวเลข 3 รอบนั้นมาได้อย่างไร  แล้วจะคำนวณกันได้อย่างไร ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีที่มาที่ไปครับ สามารถคำนวณได้เป็นตัวเลขออกมาได้จริงๆ หากว่าอดใจรอได้ ผมก็จะขอกล่าวถึงในบทความต่อไป หากว่าเพื่อนๆใจร้อนอดใจรอไม่ได้ ก็สามารถค้นหาความรู้จาก Internet เองไปพลางๆก่อนก็ได้นะครับ

                                                                      Vuthmail-Thailand
                                                                             20.05.53

ไม่มีความคิดเห็น: