12/5/53

ทฤษฎี --- ก่อน 3 ทุ่มหรือหลัง 3 ทุ่ม

โดยปกติแล้วในหน้าร้อนช่วงเดือนเมษายน โดยเฉลี่ยแล้วผมจะไม่ได้อยู่บ้านเนื่องจากไหว้เชงเม้ง ที่สุรินทร์ พร้อมกับยุ่งอยู่กับเร่งงานให้ทันกำหนดก่อนที่หน้าเทศกาลหยุดยาวในวันสงกรานต์จะมาถึง หน่วยงานทุกแห่งที่ผมติดต่องานด้วยก็กังวลเรื่องการหยุดยาว แล้วจะทำให้งานไม่เป็นไปตามกำหนด ดังนั้นทุกปีจะต้องสาระวลกับเร่งส่งมอบงาน

ในปีนี้ผมตัดสินใจว่าจะไม่เดินทางไปไหน แต่มุ่งหมายว่าจะต้องเข้าไปดูเรื่องอุณหภูมิในบ้านนกให้ได้ เพราะว่าตั้งแต่ทำบ้านนกมาไม่เคยได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย เพราะเทศกาลหยุดยาวก็หาเรื่องพักผ่อนก็ยาวสักที่  และตลอดเวลาอุณหภูมิใน Nesting Room ที่ผ่านตาไม่เคยเกิน 28.5-29.5 องศาเลย (ในกรณีที่ไม่ฤดูร้อน) จึงตายใจไม่เคยเข้าไปตรวจสอบเลย

แต่เช็งเม้ง ช่วง 4-5 เมษายน ที่สุรินทร์ร้อนมากๆ  จึงนึกว่าปีนี้ขอเข้าไปดูอุณหภูมิในบ้านนกสักปีก็แล้วกัน ยกเลิกไม่ไปเที่ยว งดหมด ตั้งใจไปที่เรื่องอุณหภูมิของบ้านนก ในช่วงที่ร้อนที่สุดของเดือนที่ร้อนที่สุดเพราะว่ามีการส่งสัญญาณจากเช้งเม้งแล้ว จึงคิดว่าต้องไปดูให้แน่ใจกันเสียหน่อย

จริงอย่างที่คาดไว้ครับ อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยๆขึ้น หากว่าดูผ่านๆก็คงไม่คิดอะไรมาก แล้วก็จะไม่มีทางรู้ได้เลย ประกอบกับไม่มีข้อมูลเก่าของ 2ปีที่ผ่านมา ก็เลยไม่มีจุดสังเกตุ ดังนั้นผมเรียนว่าควรที่จะทำประวัติเรื่องอุณหภูมิความชื้นไว้เป็นประวัติจะมีประโยชน์มากครับ ในการ Monitor เพื่อหาสิ่งผิดปกติ  ผมเองต้องยอมรับว่าเพราะเห็นแก่การพักผ่อน เห็นแก่การเที่ยวสนุกในช่วงวันหยุดยาวทำให้ไม่เคยรู้มาก่อนว่าปีก่อนเป็นอย่างไรบ้าง  แต่ปีนี้เริ่มเก็บตัวเลขไว้แล้วครับ จึงอยากชวนให้เพื่อนทำดูกันบ้าง

แต่ผลของการเก็บตัวเลข การ Monitor ทำให้ได้ทราบว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว ผมจึงเริ่มมองหาวิธีการลดอุณหภูมิในปีหน้า ปี 2554 ไว้ล่วงหน้า 1 ปีเลย โดยเริ่มทดลองเพิ่มการระบายอากาศภายในห้องนกให้มากขึ้น การลดอุณหภูมิโดยมองมาที่ตัว Blade Humidifier พร้อมวิธีการอื่นๆ ที่หวังว่าจะช่วยกันลดอุณหภูมิเล็กๆน้อยๆ จากหลายๆวิธีซึ่งแตกต่างกันเพื่อช่วยกันลดอุณหภูมิ เมื่อรวมๆกันแล้วน่าจะลดอุณหภูมิโดยรวมให้ได้อีกสัก 1.5-2 องศาพร้อมทั้งใช้เวลาในการลดอุณหภูมิให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็น Concept ที่ได้วางแนวทางกันไว้สำหรับปีหน้า 2554 แนวทางดังกล่าวนี้ทำให้ผมได้ข้อสรุปดังนี้นะครับ

อุณหภูมิภายในห้องนกจะเริ่มเพิ่มขึ้น เริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 7.30 น.ไปถึงช่วงก่อนเที่ยง และอุณหภูมิภายใน Nesting Room จะได้ขึ้นสูงสุดราวๆตอนบ่าย 14.00-14.30 น. ซึ่งจะทำให้สภาพภายใน Nesting Room อบอ้าวมากเพราะอิทธิพลจากผนังที่รับแดดในตอนเช้าจะเริ่มคลายความร้อนเข้าไปในห้องนก ถ้าหากว่าเราไม่เพิ่มอากาศเย็นเข้าไปในห้องนก และเร่งระบายอากาศร้อนเก่าออกไปจากห้องนก ความร้อนก็จะเริ่มสะสมไปจนช่วงเวลาบ่าย 16.00-17.00 น. จะทำให้สภาพอากาศภายในไม่ดี มีปัญหา

ในช่วงเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป
อุณหภูมิภายนอก จะเริ่มลดลงและค่อยๆลดลง อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 21.00-22.00 น.ซึ่งผมเองได้ใช้เวลาตอน 21.00 น.เป็นเส้นตาย หรือเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการลดอุณหภูมิและประสิทธิภาพของการระบายอากาศ ว่าดีมากน้อยเพียงใดโดยยึดเวลา 21.00 น.เป็นตัวประเมินผล

หากว่าระบายความร้อนดีและการลดอุณหภูมิมีประสิทธิภาพ อุณหภูมิภายใน Nesting Room จะต้องเท่ากับ อุณหภูมิภายนอกซึ่งอยู่รอบตัวตึกนกในช่วงเวลา 21.00 น. หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 21.20 น หากว่าทำได้ช้ากว่านี้ ผมคิดว่าระบบที่ใช้อยู่ยังดีไม่เพียงพอ ในทางตรงกันข้ามหากว่าลดอุณหภูมิภายใน Nesting Room ให้เท่ากับอุณภูมิที่อยุ่รอบๆบ้านนกได้เร็วกว่า 21.00 น.ได้มากเท่าไหร่ ผมถือว่าระบบที่ใช้อยู่นั้นเป็นระบบที่ดีมาก  แต่หากว่าทำอุณหภูมิให้ต่ำกว่าภายนอกได้อีกสัก 0.5 องศา ผมว่าอันนั้นแหละครับดีที่สุด

หากว่าเพื่อนๆที่อ่านแล้วเกิดสนใจ ก็ให้ลองนำโจทย์ทฤษฎีก่อน 3 ทุ่มหรือหลัง 3 ทุ่มนี้ไปเป็นแม่แบบเพื่อใช้ทดสอบประเมินประสิทธิภาพของการระบายอากาศ และ การลดอุณหภูมิภายในบ้านนกของเพื่อนๆดู จะทำให้เรามองเห็นดีข้อด้อยที่เป็นอยู่ แล้วให้ทำการเสริมจุดแข็งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และลดข้อด้อย ข้อผิดพลาดต่างๆน้อยลงไป  หากว่าทำทั้ง 2 อย่างได้ดีแล้วอุณหภมิภายในกับภายนอกจะวิ่งเข้าหากันโดยธรรมชาติครับ และอุณหภูมิควรจะเท่ากัน ก่อนเวลา 21.00 น.ครับ

บทความนี้ยังไม่จบ  เอาไว้มาต่อกันในบทต่อไปครับ เพราะว่ามีงานคั่งค้างอยู่มากยังไม่ได้ลงมือทำเลยครับ

                                                                        Vuthmail-Thailand
                                                                               12.05.53
                      

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จริงๆแล้ว ถ้าไม่อยากยุ่งยากมาก ก็ให้เลือกวัสดุก่อสร้างผนังชั้นนอกเป็น อิฐบล๊อกมวลเบาทั้งหมด จะช่วยเรื่องความร้อนจากการถูกแสงแดดเผาได้เยอะมากครับ อิฐบล๊อคซีเมนต์ธรรมดา หรืออิฐแดงก่อฉาบ ก็ทำให้ร้อนมากพอๆกัน

Unknown กล่าวว่า...

ขอบพระคุณมากครับ สำหรับข้อคิดดีครับ

ส่วนบ้านนกของผมใช้ อิฐมวลทั้ง 2 ด้านทั้งนอกทั้งในเลยครับ เอา Sure ไว้ก่อนทำให้อุณหภูมิภายในตัวตึกผมได้รับผลกระทบน้อยมากครับ

แต่เพื่อความไม่ประมาทครับ ก็ต้องมองไปหาวิธีการที่จะลดความร้อนให้ลดไปอีก 1.5-2 องศา และความร้อนในอีกหลายๆปีที่อาจจะร้อนมากกว่าปี 2553 นี้ครับ

อีกประการหนึ่งผมทำเพื่อการทดลอง แล้วนำวิธีการที่ได้มานำเสนอวิธีการลดความร้อนในวิธีการต่างๆต่อเพื่อนๆที่ติดตามอ่านใน Blog ครับ